คนส่วนใหญ่ยังมีทัศนะความเชื่อว่า  “เด็กที่มีเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพไม่แข็งแรงและจะมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว ไม่คุ้มค่าในการดูแลรักษาและส่งเสริมการศึกษา” แต่ความจริงคือเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีสามารถเรียนหนังสือและเติบโตมีชีวิตได้ตามปกติหากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี   และได้รับการดูแลรักษาป้องกันโรคฉวยโอกาสตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขแต่เนิ่น ๆ ก่อนความเจ็บป่วยจะรุนแรง  รวมถึงการได้รับวัคซีน  การส่งเสริมพัฒนาการ การโภชนาการ  และได้รับการดูแลติดตามอย่างต่อเนื่อง  

ดังนั้น ความเข้าใจในข้อเท็จจริงเกี่ยวการดูแลรักษาที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการปรับทัศนะต่อเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี และส่งเสริมให้เกิดการดูแลเด็กอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและสามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มศักยภาพ

โอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารก

ทารกมีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวีใน 3 ช่วง คือ

1) ช่วงอยู่ในครรภ์ (ก่อนคลอด): ตามปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์กับเด็กในครรภ์ต่างมีระบบไหลเวียนเลือดของตนเอง โดยมีรกทำหน้าที่กั้นและคัดกรองเฉพาะสารอาหาร ออกซิเจน ภูมิคุ้มกัน รวมทั้งภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวีผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ แต่เชื้อเอชไอวีสามารถผ่านไปสู่ทารกได้หากรกมีความผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ หรือมีรูรั่ว  

2) ช่วงคลอด:  มีโอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อเอชไอวีมากที่สุด เพราะทารกมีโอกาสสัมผัสเลือดหญิงตั้งครรภ์ในระหว่างคลอดได้มาก รวมทั้งสัมผัสน้ำในช่องคลอด ซึ่งเชื้อเอชไอวีจะผ่านเข้าทางเนื้อเยื่อบุอ่อนของทารกได้ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น

3) ช่วงหลังคลอดที่ทารกดูดนมหญิงตั้งครรภ์:  แม้ว่าในน้ำนมจะมีเชื้อเอชไอวีไม่มากแต่เด็กจะกินนมในปริมาณมากเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี ผ่านเยื่อบุทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้โอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น หากผู้ที่ตั้งครรภ์มีปริมาณเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดจำนวนมาก และระยะเวลาในการคลอดนานกว่า 4 ชั่วโมง

โดยทั่วไปทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสได้รับเชื้อประมาณร้อยละ 25 – 30 (โดยเปรียบเทียบการตั้งครรภ์ 1 ครรภ์เท่ากับ 100%)   ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี 100 คนจะมีโอกาสมีลูกที่รับเชื้อเอชไอวี 25 – 30 คน

อย่างไรก็ตาม การรับเชื้อเอชไอวีของเด็กจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 1-2  ถ้ามีการฝากครรภ์ได้รับการดูแลสุขภาพและยาต้านไวรัสฯ แต่เนิ่น ๆ ตามแผนการรักษาและให้เด็กดื่มนมผสมแทนนมของผู้ที่ตั้งครรภ์

บริการที่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายต้องได้รับ

  • การให้คำปรึกษาเพื่อได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านในการดูแลตนเองและการวางแผนเรื่องลูก
  • การฝากครรภ์เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตรวจปัสสาวะ  การตรวจนับเม็ดเลือด  ความดันเลือด ฯลฯ  เช่น เดียวหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี
  • การตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาว (ซีดี 4) และคัดกรองโรคฉวยโอกาส เพื่อประเมินภาวะภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอื่นๆ
  • การให้ยาต้านไวรัสฯ แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อของเด็กทารกแรกเกิดที่ให้บริการทุกโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทารกที่คลอดจากหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกราย

  • ต้องได้รับยาน้ำเอแซดที (AZT) ขนาด 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กินทุก 12 ชั่วโมงนาน 4 สัปดาห์
  • งดนมจากผู้ที่ตั้งครรภ์จะได้รับสนับสนุนนมผงนาน 18 เดือน

หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีและเด็กที่คลอดออกมาแล้วติดเชื้อเอชไอวีทุกรายที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถรับยาต้านไวรัสฯ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของทารกได้จากทุกโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของตัวเองได้

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีของเด็ก

กรณีเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี  แนวทางการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีของเด็กในปัจจุบัน คือการตรวจพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งเด็กจะได้รับการตรวจในช่วงอายุ 1- 6 เดือน  2  ครั้ง

ถ้าผลการตรวจพีซีอาร์ (PCR)  เป็นบวกทั้ง 2 ครั้ง  หมายถึงเด็กมีเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าผลตรวจเป็นลบจะวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเด็กไม่มีเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้เด็กจะได้รับการตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อฯ  โดยการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวีที่เรียกว่า “เอชไอวีแอนติบอดี” (HIV Antibody) เมื่อเด็กอายุครบ 18 เดือน  ถ้าผลตรวจเป็นบวกแสดงว่าเด็กมีเชื้อเอชไอวี ถ้าผลเป็นลบแสดงว่าเด็กไม่มีเชื้อฯ

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีกับการละเมิดสิทธิเด็ก

การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีของเด็กเพื่อแยกเด็กออกจากเด็กที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี  หรือด้วยเหตุผลว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและไม่ได้เกิดประโยชน์กับเด็ก เนื่องจากไม่มีใครมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกันจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการแบ่งแยกเด็ก 

แต่หากเป็นการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีของเด็กที่มีเป้าหมายเพื่อวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี  อีกทั้งเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อเอชไอวี  และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสบางชนิดที่พบบ่อยในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำถือว่าเป็นประโยชน์

หัวใจสำคัญของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ของเด็กที่มีเชื้อ

  • การเตรียมความพร้อม พ่อ/แม่/ผู้ดูแลเรื่องการรักษาด้วยยาต้านฯ ของเด็ก  โดยเฉพาะในทารกควรวินิจฉัยการติดเชื้อฯ ให้เร็วที่สุด  และเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ
  • การเลือกสูตรยาอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจได้สูตรยาที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน
  • เด็กต้องได้กินยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา และต่อเนื่องทุกวัน เพื่อรักษาระดับยาในเลือดให้คงที่ตลอดเวลาเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวี  หากกินยาไม่ตรงเวลาและต่อเนื่องจะเปิดโอกาสให้เชื้อเกิดการดื้อยา
  • เด็กต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะยาต้านไวรัสฯ อาจมีผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้น จำเป็นต้องดูแลและพาเด็กไปติดตามประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องกับทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาเด็ก
  • ผู้ดูแลและเด็กต้องให้ความร่วมมือในการรักษา    

การดูแลสุขภาพในระยะยาวสำหรับเด็กที่กินยาต้านไวรัสฯ

  • สนับสนุนให้เด็กกินยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ซึ่งควรพิจารณาและติดตามเป็นรายกรณีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เด็กบางคนที่กินยาได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง  ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกินยาได้ดีตลอดไป  เพราะเด็กอาจเกิดความเบื่อหน่าย  หรือรู้สึกยุ่งยากกับการไปรับบริการการรักษา หรือเผชิญปัญหาด้านจิตใจและสังคม ไม่มีความหวัง กำลังใจในชีวิต 
  • ทั้งนี้ในกรณีที่เด็กรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อ หรือไม่รู้เรื่องการติดเชื้อไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กทุกคนในการร่วมมือกับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กบางคนรู้เรื่องการติดเชื้อแล้ว แต่ก็ไม่กินยา เพราะไม่รู้สึกถึงคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ เป็นต้น
  • สังเกตการเจริญเติบโตของเด็ก น้ำหนัก ส่วนสูงและพัฒนาการด้านต่าง ๆ เพราะการรักษาที่ได้ผลดีเด็กจะมีพัฒนาการและมีการเจริญเติบโต
  • สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้และส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาวซึ่งต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข